ชำแหละวงการรับจ้างปั๊มไลค์ ปั่นวิว เงินสะพัด!
เมื่อค่านิยมบนโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามามีบทบาทในชีวิต และสังคมเรานั้น ทำให้เราได้กลายเป็นโรคเสพติดยอดไลค์บนเฟซบุ๊ก ยอดฟอลโล่ ยอดชมคลิป ยอดวิวต่างๆ ไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เราใช้โรคเสพติดที่ว่านี้ เป็นเครื่องวัดคุณค่า หน้าตาในสังคม หรือแม้แต่อุดมการณ์ทางความคิดของบุคคลที่รายล้อมรอบตัวเราไปเสียแล้ว อย่างที่เห็นในสังคมออนไลน์นั้น ชีวิตดูน่าอิจฉา หรูหราและมีความสุข โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกพวกชอบไลค์ให้แห่กันไปคลิกถูกใจ แต่ในทางกลับกันชีวิตของคนเหล่านั้น อาจแตกต่างหรือผิดแผกไปจากที่สิ่งที่พวกเธอและพวกเขาเหล่านั้นโพสต์กันอยู่ก็ได้
ไม่นานนักจึงมีคนหัวใส ปิ๊งไอเดียก่อตั้งกิจการรับจ้างปั๊มไลค์กันเป็นธุรกิจ รับทรัพย์กันไปชนิดที่ว่ากันถ้วนหน้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จึงไปล้วงตับ 2 หนุ่ม 2 มุมเกี่ยวกับกระบวนการปั๊มไลค์ หรือรับจ้างไลค์ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มสังคมออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง คนแรกเป็นหนึ่งหนุ่มวัยทำงานอายุ 29 ปี ที่รับจ้างเพิ่มไลค์ให้แก่เพจต่างๆ ส่วนอีกคนเป็นหนุ่มน้อยวัยแรกรุ่นอายุ 19 ปี รับอัพจำนวนไลค์ให้แก่รูปภาพ โพสต์ คอมเมนต์ต่างๆ ของชาวเฟซบุ๊ก ซึ่งความน่าสนใจของธุรกิจ การได้มาของยอดไลค์มากมายมหาศาลที่ว่านี้มีที่มาอย่างไร ความเฟื่องฟูของธุรกิจเงินจะสะพัดขนาดไหน เราสามารถทำเองได้หรือไม่ เพราะเรารู้ว่านี่คือเรื่องใกล้ตัวที่คุณสนใจ ฉะนั้น คุณไม่ควรพลาด เพราะถ้าคุณพลาด คุณจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง!
เปิดหมดเปลือกเจ้าของธุรกิจรับจ้างปั๊มไลค์
นายกิตติศักดิ์ สุวรรณชล หรือ ศักดิ์ อายุ 29 ปี เจ้าของธุรกิจรับจ้างกดไลค์ รับเพิ่มไลค์ เปิดเผยกับทีมเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า เดิมทีตนไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มธุรกิจรับจ้างกดไลค์ แต่ได้เทคโอเวอร์กิจการนี้มาจากผู้ก่อตั้งคนเก่าในราคาที่เรียกได้ว่าต้องคิดหนัก หากเพราะเรตราคาที่ว่านั้น มูลค่าเกือบเหยียบล้านบาท จึงต้องคิดให้รอบคอบถี่ถ้วนว่าเม็ดเงินลงทุนที่ต้องใช้ คุ้มค่าพอกับกำไรที่จะได้คืนมาหรือไม่
ขณะนี้ ตนได้ดำเนินธุรกิจปั๊มไลค์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งธุรกิจตัวดังกล่าวนั้นไปได้สวย ราบรื่น ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ จากเดิมที่มีอาชีพขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต มีรายได้ไม่แน่นอน ต้องลงทุนซื้อสินค้ามารอออเดอร์จากลูกค้า โดยไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะสามารถทำไรให้คืนทุนได้หรือไม่ จึงนำมาสู่การตัดสินใจเข้าซื้อกิจการรับจ้างไลค์ และธุรกิจรับจ้างกดไลค์ มิใช่ธุรกิจที่จะต้องโหมลงทุน ลงแรง แต่แทบจะเป็นธุรกิจที่ไร้ต้นทุนก็ว่าได้ ดังนั้น กำไรที่เข้ามาจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมากน่าพอใจ ซึ่งแต่เดิมชีวิตของตนที่ยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถ แต่ตอนนี้ธุรกิจเล็กๆ ได้สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้แล้ว เนื่องจากกำไรได้คืนทุนไปแล้วตั้งแต่ปีแรก ณ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ตนสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยการซื้อบ้านซื้อรถ สร้างความสุขให้แก่ครอบครัว
นายกิตติศักดิ์ เจ้าของธุรกิจรับจ้างกดไลค์เพจ วัย 29 ปี ไม่ขอระบุวิธีการได้มาของยอดไลค์ต่างๆ แต่ขอระบุเพียงสั้นๆว่า ใช้วิธีเขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อดึงยอดไลค์มากดถูกใจให้กับเพจต่างๆ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้คนประมาณ 4-5 คน เพื่อดูแลโปรแกรม โดยตนได้จ้างลูกจ้างประจำเข้ามาดูแลในส่วนนี้ ให้ค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ และสามารถทำงานที่บ้านได้หากจำเป็น แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศที่ตนจัดตั้งขึ้น
“เฟซบุ๊กปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมอยู่เสมอ ดังนั้น ผลกระทบที่มีต่อกิจการของผมก็คือ ปั๊มไลค์ยากขึ้น แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนาอะไรสำหรับผม เพราะในฐานะ Developer อย่างเรา ก็ต้องปรับตัวพัฒนาตามพี่ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กแน่นอน” เจ้าของธุรกิจรับจ้างกดไลค์เพจ วัย 29 ปี เชื่อมั่นในธุรกิจของเขาเช่นนั้น
เจาะวงการปั๊มไลค์ โดยเจ้าของเว็บไซต์ปั๊มไลค์ชื่อดัง
แหล่งข่าวด้านการรับจ้างกดไลค์อีกหนึ่งคน นั่นก็คือ นายพงศธร หรือ ปาล์ม หนุ่มน้อยหัวก้าวหน้าวัย 19 ปี เล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มเข้ามาจับธุรกิจรับจ้างกดไลค์มาได้ประมาณ 1 ปี โดยลงมือเป็นผู้เขียนโปรแกรมเองทั้งหมด ซึ่งต่อมาก็ได้ชักชวนเพื่อนอีกหนึ่งคนให้เข้ามาช่วยดูภาพรวมต่างๆ ซึ่งนายพงศธร ถอดหมดเปลือกถึงกระบวนการได้มาของไลค์จำนวนมหาศาล ไว้ดังต่อไปนี้
– ใช้ App facebook ของ HTC, Spotify, BlackBerry หรือแอพอื่นๆ ที่มีคนใช้เยอะหลักสิบ หรือหลักร้อยล้าน เนื่องจากแอพที่คนใช้เยอะจะทำให้เฟซบุ๊กไม่สงสัย และตรวจสอบได้ยาก (และไม่สามารถลบแอพนั้นทิ้งได้เพราะมีคนใช้ทั่วโลก) กรณีสร้างแอพเองจะโดนเฟซบุ๊กลบแอพและแบนไอดีที่สร้าง
– ในระบบ API ของ Facebook จะมี Access Token อยู่ ลักษณะเป็นรหัสยาวๆ เช่น (CAAAACZAVC6ygBAOw5caQZCH7VW66c7JoZBbZCQZBfiAZA75yA9Q1f9CCilN11WJF4d) โดยรหัสดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้งานแทนบัญชีเฟซบุ๊กเราได้เลย เช่น สั่งไลค์ สั่งโพสต์ อ่านข้อความ เป็นต้น (ขึ้นอยู่กับสิทธิ์ที่อนุญาตให้แอพ เช่น HTC Sense ต้องการโพสต์ไปยัง Facebook ในนามของคุณ ถ้าเราอนุญาตแอพจะสามารถโพสต์เฟซบุ๊กเราได้) แต่การใช้งานจะซับซ้อนไม่เหมือนการล็อกอินใช้ตามปกติ (ต้องนำไปใช้ผ่าน API ของ Facebook ที่ชื่อ Graph API) ซึ่งจะยุ่งยากกว่าการใช้งานปกติมาก
– การทำงานของเว็บปั๊มไลค์คือให้ผู้ใช้กดใช้ App พวก HTC Spotify BB ฯลฯ โดยให้กดอนุญาตสิทธิ์ต่างๆ จากนั้นนำ Access Token ของผู้ใช้เก็บลงฐานข้อมูล เมื่อผู้ใช้อื่นมาใช้งานจะดึง Access Token จากฐานข้อมูลมาสั่งไลค์ผ่าน Graph API ของเฟซบุ๊ก
ก็มีคำถามต่อว่า การป้องกันถูกใจ สกัดไลค์ไม่รู้ต้ว ทำอย่างไร หนุ่มวัย 19 ปี เจ้าของเว็บไซต์ปั๊มไลค์ เผยวิธีการที่จะไม่ให้แอพดังกล่าวนำเฟซบุ๊กของเราไปกดไลค์รูปหรือโพสต์ต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. เปลี่ยนรหัสผ่าน เพราะหลังจากเปลี่ยนรหัสแล้ว เฟซบุ๊กจะรีเซ็ต Session ทุกอย่างเกี่ยวกับ ID เรารวมไปถึงรหัส Access Token เก่าที่เคยมีจะใช้งานไม่ได้ (ต้องเข้าไปรับรหัสใหม่) ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์ปั๊มไลค์เอาของเราไปไม่ได้ เนื่องจากรหัส Access Token ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลเป็นรหัสเก่า
2. ลบแอพที่ใช้ปั๊มไลค์ เมื่อลบแอพที่ใช้ปั๊มไลค์จะเหมือนการเปลี่ยนรหัสคือรีเซ็ต Session ของแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ทำให้ Access Token ของแอพดังกล่าวใช้งานไม่ได้
* รหัสผ่าน เฟซบุ๊ก กับรหัส Access Token ไม่เหมือนกัน ถ้ามีรหัสเฟซบุ๊กจะสามารถล็อกอินทำได้ทุกอย่างปกติ แต่ถ้ามี Access Token จะสามารถทำได้ตามสิทธิ์ที่กำหนดตอนแรกเท่านั้น เช่น อนุญาตให้โพสต์ อนุญาตให้อ่านโพสต์ ถ้าไม่ได้ยอมรับสิทธิ์ไหนก็จะไม่สามารถนำ Access Token ไปใช้งานในการทำงานนั้นได้ และการใช้งานด้วยรหัส Access Token จะยุ่งยากกว่าการใช้งานปกติมากเพราะต้องเรียกผ่านตัว Graph API ของ เฟซบุ๊ก และต้องเขียนโปรแกรมในการอ่านค่าไม่เช่นนั้นจะอ่านยาก
* API คือ Application Programming Interface คือช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างเว็บไซต์หลักกับเว็บไซต์ภายนอกให้สะดวก (ให้ผู้อื่นสามารถเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ได้โดยตรง เช่น ทำให้เว็บไซต์เราล็อกอินได้ด้วยเฟซบุ๊ก เป็นต้น)
* สรุปง่ายๆ Access Token คือรหัสยาวๆ ที่ไม่เกี่ยวกับรหัสเฟซบุ๊กเรา แต่ความสำคัญเทียบเท่ากับรหัสเฟซบุ๊ก เพราะถึงไม่สามารถนำไปใช้งานโดยตรงได้ แต่สามารถนำไปใช้งานผ่านโปรแกรมเสริม (Graph API) ของเฟซบุ๊กได้
โกงวิวเว็บไซต์! เนื้อหาไม่จรรโลง อัพยอดโด่งทะลุสถิติไม่ยาก
เจ้าของกิจการปั๊มไลค์ทั้งคู่ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สามารถเพิ่มยอดการติดตามในโซเชียลเน็ตเวิร์กประเภทอื่น เช่น ทวิตเตอร์ instagram google+ หรือแม้แต่การเพิ่มยอดวิวบนหน้าเว็บไซต์ก็สามารถทำได้โดยไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นแม้แต่น้อย หากเพราะในโลกอินเทอร์เน็ตมีโปรแกรมเด็ดดวงมากมายที่สามารถใช้เพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์หรืออัพยอดวิวให้แก่เว็บไซต์ต่างๆ ได้ โดยมีขั้นตอนอันน้อยนิดก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน
ขณะที่ ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำโปรแกรมที่สามารถอัพเพิ่มยอดวิวเว็บไซต์ให้แก่เจ้าของธุรกิจรับจ้างกดไลค์ทั้งสองแห่งได้ตรวจสอบ โดยปรากฏว่า จากการทดลองโปรแกรมดังกล่าวสามารถเพิ่มจำนวนยอดวิวเว็บไซต์ได้จริง
“การปั่นวิวเว็บไซต์นั้น อาจเป็นผลดีต่อเจ้าของกิจการหรือเจ้าของผลงาน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายอดวิว นั่นก็คือ คุณภาพของเนื้องานที่สามารถบอกเล่าอะไรต่อสังคม และเป็นประโยชน์กับคนอื่นมากกว่าตัวเองหรือไม่” เจ้าของกิจการวัย 29 ปี แฝงแนวคิดน่าไตร่ตรอง
เปิดกระเป๋าตัง เผยรายได้ เงินสะพัดจากการปั๊มไลค์!
เจ้าของธุรกิจรับจ้างกดไลค์วัย 29 ปี เปิดหมดเปลือกถึงรายได้จากธุรกิจอันเป็นที่รักของเขาให้เราฟังว่า ธุรกิจรับเพิ่มไลค์ เคยทำรายได้สูงสุด 10 วัน 1 ล้านบาทมาแล้ว แต่รายได้ในจำนวนหลักล้านนี้ เคยทำได้เมื่อช่วง 5-6 เดือนก่อน ณ เวลานี้รายได้ไม่ได้มากจนเหยียบล้านเท่าช่วงก่อน เนื่องจากช่วงหลังเฟซบุ๊กเปลี่ยนกระบวนการเลือกเพจต่างๆ มาโชว์บริเวณหน้าฟีดนิวส์ บวกกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้เฟซบุ๊กเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้บัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาใหม่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร จึงมีผลต่อการดึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเข้ามากดไลค์เพจต่างๆ ของลูกค้ายากมากขึ้น กระนั้น ช่วงนี้กิจการดังกล่าวจึงสามารถทำรายได้เข้ากระเป๋าลดลงมา ตกเดือนละ 1-2 แสนบาท
“ยอดไลค์ เปรียบเหมือนสินค้าประเภทหนึ่ง ในวันนี้ผมอยู่ในฐานะผู้ผลิต ซึ่งบอกได้เลยว่า ขณะนี้ สินค้าผลิตไม่ทัน และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่สูงมากขึ้นทุกวัน” นายกิตติศักดิ์ พูดถึงธุรกิจอันรุ่งโรจน์ของตัวเอง
หนุ่มน้อยเจ้าของกิจการรับจ้างเพิ่มไลค์ รูป คอมเมนต์ ยอมเปิดปากให้เราฟังเพียงแค่ว่า รายได้ที่เข้ามาจากการเพิ่มไลค์ให้แก่ชาวเฟซบุ๊กนั้น สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของพ่อหนุ่มได้โดยไม่ต้องแบมือขอพ่อขอแม่แล้ว มิหนำซ้ำยังเหลือกินเหลือเก็บนำไปใช้เป็นค่าเล่าเรียน เก็บออมไปลงทุนได้หลายบาทหลายสตางค์เลยทีเดียว
ปั๊มไลค์ อนาคต มั่นคง กิจการยั่งยืนเพียงใด ?
เจ้าของเว็บไซต์รับจ้างไลค์ยังบอกต่อไปอีกว่า ในเชิงกลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจรับจ้างกดไลค์นั้นเป็นเครื่องมือ หรือกลยุทธ์ที่ร้านค้าออนไลน์ ใช้เพื่อสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า โดยในปัจจุบันเฟซบุ๊กจะลดความสำคัญของแฟนเพจที่ไม่ใช่แฟนเพจคุณภาพ (แฟนเพจคุณภาพคือเพจที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่มีคุณภาพ Content Marketing โดยการโพสต์ข้อมูลอัพเดตที่มีความน่าเชื่อถือ และมีส่วนร่วมของสมาชิกในแฟนเพจเช่นการไลค์ต่อโพสต์ การร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ การแชร์ต่อโพสต์ ที่สม่ำเสมอ และสมเหตุสมผลกับจำนวนสมาชิกในแฟนเพจ)
“ธุรกิจรับจ้างกดไลค์เป็นธุรกิจที่จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะบริการนี้คือเครื่องมือที่เป็นองค์ประกอบในการต่อยอดทางธุรกิจ” นายกิตติศักดิ์ ผู้ที่เคยมีรายได้ 10 วัน 1 ล้านบาทเชื่อเช่นนั้น
ส่วนหนุ่มวัยรุ่นไฟแรงอย่างพงศธร มองว่า ไม่พ้นปีหน้าเฟซบุ๊ก ก็จะปรับกลยุทธ์ พร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ หรือหาวิธีบล็อกวิธีการปั๊มไลค์ ก็จะทำให้การเรียกไลค์จากเฟซบุ๊กมีความยากมากขึ้น หรือแม้กระทั่งไม่สามารถดึงไลค์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กมากดให้กับเพจต่างๆ ได้เลย
ไลค์เป็นกระบุง กำไรพุ่ง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เอ๊ะ! ใช่หรือ ?
เจ้าของร้านรับจ้างไลค์แฟนเพจทั้ง 2 คน มีมุมมองต่อการปั๊มไลค์ในแฟนเพจที่ตรงกันว่า ปัจจุบัน บริการรับจ้างกดไลค์ จะตอบโจทย์ในส่วนของการสร้างภาพลักษณ์ หน้าร้านค้าออนไลน์ มากกว่าที่จะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายลูกค้า
ทั้งนี้ ภาพลักษณ์หรือหน้าร้านค้าออนไลน์ก็จะนำมาซึ่งฐานลูกค้าจริงในอนาคตได้เช่นกัน ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการต่อยอดในการโปรโมท สร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ ที่จะสร้างความแตกต่างให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคเชื่อถือได้แค่ไหน หลังจากที่ได้รับการเพิ่มไลค์ให้กับร้านค้าไปแล้ว
คนสมัยนี้ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คเพียงแค่อวดนม โชว์กล้าม กล้าพูดตรงข้ามกับสิ่งที่สังคมคิดเท่านั้น ก็สามารถโดดเด่น น่าติดตาม น่าไลค์ น่าชมภายในช่วงเวลาไม่กี่นาที หากเพราะนี่เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ใหม่ที่สังคมไทยต้องจับตา ติดไลค์ คลั่งวิว..
ที่มา : thairath.co.th
You may also like
ค้นหาข่าวสารที่คุณสนใจได้ที่นี่
เรื่องล่าสุด
- ระวัง! “Nudify” แอป AI ลบเสื้อผ้าได้ ใช้เปลื้องผ้าผู้คนจากภาพถ่าย!! 29 ธันวาคม, 2023
- หลังจาก YouTube แบน Ad Blocker หลายคน Uninstall แต่หลายคน Install เยอะขึ้น 21 พฤศจิกายน, 2023
- Apple กำลังพัฒนา Search Engine เป็นของตัวเอง จะสู้ Google ได้หรือไม่! 5 ตุลาคม, 2023
- Facebook เปิดตัวโลโก้ใหม่ เปลี่ยนจนที่ใครๆต้องร้องว้าว! 25 กันยายน, 2023
- YouTube บล็อคไม่ให้เล่นคลิปแล้ว หากใช้ Ad Blocker กีดกันโฆษณาบนเบราว์เซอร์ 18 กันยายน, 2023
Facebook Comments