ฝ่า 9 นรกไปกับพระเจ้า ภาค2 / Google Algorithm 2018
เตรียมตัวออกผจญภัยฝ่านรกทั้ง 9 ขุมอีกครั้ง เพื่อส่งสุดยอดเว็บไซต์ให้ไปเกิดได้สำเร็จ เพราะเว็บไซต์ที่ดีจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและไต่สวนถึง 9 นรกอัลกอริทึม ได้แก่ นรกแห่งแพนด้า, นรกเพนกวิน, นรกโจรสลัด, นรกฮัมมิงเบิร์ด, นรกนกพิราบ, นรกมือถือ, นรกปัญญาประดิษฐ์, นรกพอสซัม และ นรกตรวจสอบโฆษณาอันเลวร้าย ซึ่งแต่ละนรกอัลกอริทึมจะพิจารณาถึงบาปกรรมแต่ละอย่างที่เคยก่อมา และถ้าเว็บไซต์นั้นพ้นผิดจากนรกทั้ง 9 ขุมก็จะได้ไปเกิดในอันดับที่ดี
1 Panda
Google Panda เป็นอัลกอริทึมที่ใช้ในการกำหนดคะแนนคุณภาพเนื้อหาให้กับหน้าเว็บและเว็บไซต์ระดับล่างที่มีเนื้อหาสแปมหรือเนื้อหาที่มีคุณภาพต่ำ จึงต้องเน้นเรื่องการทำ onpage ในการทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพ คุณต้องสร้างเนื้อหาที่ดี และที่สำคัญนั่นก็คืออย่าไปคัดลอกบทความของชาวบ้านมา เพราะ Google จริงจังกับเรื่องนี้มาก และแน่นอนว่าถ้าถูก Panda จับได้จะมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงมาก
เกิดเมื่อ : 24 กุมภาพันธ์ 2011
หน้าที่ : ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่มีคุณภาพต่ำ และจัดอันดับเว็บไซต์โดยให้ความสำคัญกับเนื้อหา
ข้อควรระวัง
– เนื้อหาที่ซ้ำกันกับเว็บไซต์อื่นหรือก๊อปมาจากเว็บอื่น
– เนื้อหาสแปม หรือใส่ keyword เยอะมากเกินไป
– เนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
– เนื้อหาน้อย
ความเห็นผู้เขียน
เนื้อหาดีก็ติดอันดับได้ดี แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่พวกก๊อปไปนี่แซงต้นฉบับก็มีเยอะแยะไป
2 Penguin
ใครที่ทำ SEO เกี่ยวกับทางด้าน Off Page จะรู้ดีว่า Penguin นั้นคือสายตรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ Link ต่างๆ ที่จะเข้ามาในเว็บไซต์ว่าเป็น link ที่ดีหรือไม่ (Back link) ดังนั้นจอมปั่นเว็บต้องระวังตัวให้ดี เพราะนับตั้งแต่ปลายปี 2016 เพนกวินเป็นหนึ่งในอัลกอริทึมที่ใช้ในการพิจารณาการจัดอันดับหลักของ Google และทำงานในแบบเรียลไทม์ (เรียกว่ากรรมติดจรวดก็ว่าได้) ดังนั้นหากใครที่ทำเว็บไซต์แล้วมี link เข้ามาแบบมีคุณภาพ ไม่ต้องเยอะ! แต่ขอมีคุณภาพแค่นั้นพอ รับรองว่า Penguin จะต้องทำให้อันดับของเว็บไซต์นั้นดีขึ้นมาอย่างแน่นอน
เกิดเมื่อ : 24 เมษายน 2012
หน้าที่ : ตรวจสอบ Back link ที่มาจากภายนอก
ข้อควรระวัง
– ลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพ
– ลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์พวก Private Blog Network เพื่อการ SEO
– ลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์ที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้อง และลิงก์ที่มีการเสียตัง
– ลิงก์ที่ใช้ Anchor Text มากเกินไป
ความเห็นผู้เขียน
รู้สึกได้ว่า backlink คุณภาพดีหรือไม่ดี ดูไม่ค่อยส่งเสริมให้เว็บติดอันดับดีขึ้นเท่าไรนะสมัยนี้
3 Pirate
ถัดมาก็เป็นโจรสลัด ที่จะเน้นกวาดล้างเว็บไซต์ที่โพสต์เนื้อหาผิดลิขสิทธิ์ เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ (เช่นภาพยนตร์เพลงหรือหนังสือ) ซึ่งถ้าตรวจสอบเจอ เว็บไซต์นั้นก็จะถูกลดอันดับไป แต่อย่างที่พวกเราเจอกันบ่อยๆ ดูหนังออนไลน์ ยังลอยหน้าลอยตาอยู่เต็มหน้าแรก แสดงว่าอัลกอนี้ยังใช้ไม่ค่อยได้ในไทย
เกิดเมื่อ : สิงหาคม 2012
หน้าที่ : ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์
ข้อควรระวัง
– เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์
– เนื้อหาที่มีการรายงานการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก
ความเห็นผู้เขียน
อย่างที่บอก หลายๆ เว็บไซต์ยังลอยหน้าลอยตาติดอันดับได้อย่างแข็งแกร่ง แสดงว่าโจรสลัดยังห่วยอยู่
4 Hummingbird
เจ้านกฮัมมิงเบิร์ดตัวน้อยนี่ สามารถตีความหมายของคำที่เราค้นหาได้ดีในเรื่องของสถานที่ ตอบสนองคำค้นหาที่ยาวซับซ้อนได้ดี (longtail keyword) นำเสนอผลการค้นหาที่ตรงกับเจตนาของผู้ค้นหาแทนที่จะโฟกัสไปที่คำหลัก คำใดคำหนึ่ง ในประโยคนั้นๆ
เกิดเมื่อ : 22 สิงหาคม 2013
หน้าที่ : แสดงผลการค้นหาที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเหมือนรู้พฤติกรรมมนุษย์
ข้อควรระวัง
– ไม่ควรกำหนดเป้าหมาย keyword ที่ตรงเกินไป (ควรใส่คำที่หลากหลาย)
– การใส่ keyword หลักในเนื้อหามากเกินไป
ความเห็นผู้เขียน
มันก็เป็นสิ่งที่ฉลาดเวลาเราค้นหาอะไรซักอย่าง แล้วมันขึ้นมาในช่องค้นหาเหมือนรู้ใจเราเลย
5 Pigeon
ที่บ้านมีเยอะเลย ชอบแอบมากินอาหารไก่ประจำ เจ้านกพิราบตัวนี้จะให้ความสำคัญกับผลการค้นหาในท้องถิ่น เพื่อธุรกิจในท้องถิ่น อัลกอนี้ออกมาเพื่อจัดระเบียบผลการค้นหาอยู่ 2 แบบ คือ Google Maps และ Google search ด้วย โดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของตำแหน่งผู้ค้นหา อย่างถ้าคุณค้นหาอะไรซักอย่าง มันก็จะแสดงผลการค้นหาในบริเวณที่ใกล้เคียงก่อน
เกิดเมื่อ : 24 กรกฎาคม 2014
หน้าที่ : ให้ผลลัพธ์การค้นหาของโดยคำนึงถึงเว็บไซต์ที่อยู่บริเวณใกล้ๆ และมีความเกี่ยวข้อง
ข้อควรระวัง
– ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร ในเว็บไซต์ไม่สอดคล้องกัน
– หน้าเว็บไซต์ที่ไม่มีข้อมูลที่อยู่ชัดเจน
– การตั้งค่าหน้า Google My Business ไม่ถูกต้อง
ความเห็นผู้เขียน
คือส่วนตัวชอบอัลกอนี้ในฐานะ user เพราะเวลาเราอยากกินหรืออยากสั่งของอะไรใกล้ๆ มันตอบโจทย์ได้ดีเลยทีเดียว ไม่ใช่ค้นหาสิ่งที่อยากได้แล้วตัวเราอยู่กรุงเทพ แต่เจอผลการค้นหาไปที่เชียงใหม่โน่น
6 Mobile
Mobile อัลกอริทึม ใช้ตรวจสอบเว็บไซต์ของคุณ เพื่อให้แน่ใจว่ามีหน้าเว็บที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ หรือแทบเล็ด เพราะว่ากูเกิ้ลได้ทำการแยกดัชนีค้นหาเวอร์ชันสำหรับมือถือ ออกมาจากดัชนีค้นหาออกจากเดสก์ท็อป และกูเกิลก็ได้ให้ความสำคัญกับ Mobile เป็นหลักแทน
เกิดเมื่อ : 21 เมษายน 2015
หน้าที่ : ตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ที่มีการรองรับมือถือเพื่อจัดอันดับให้ดีขึ้น
ข้อควรระวัง
– เว็บไซต์ที่ไม่รองรับบนมือถือ
– การกำหนดค่าวิวพอร์ตในเว็บไซต์ไม่ถูกต้อง
– เว็บไซต์ที่โหลดช้า ข้อมูลเยอะแยะไปหมด
– การใช้ปลั๊กอิน แทนที่จะทำเป็น Responsive
ความเห็นผู้เขียน
อันนี้คงไม่ต้องพูดเยอะ เจ็บคอ หลายๆ เว็บยังเป็น flash อยู่ หลายๆ เว็บยังต้องซูมเข้าซูมออกกันเลยทีเดียว
7 RankBrain
RankBrain คือเทคโนโลยี AI (ประดิษฐ์โดยปัญญา) ถูกปล่อยออกมาในปี 2015 ถูกนำมาใช้ในการช่วยจัดอันดับผลการค้นหา และจัดอันดับหน้าเว็บสำหรับ keyword แปลกใหม่ เจ้าตัวนี้มีความสัมพันธ์กับนกน้อย Hummingbird เป็นอย่างดี เพื่อตอบสนองต่อข้อความค้นหาให้แก่ผู้ใช้งาน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของคำค้นหาที่ Google ไม่เคยพบเจอมาก่อนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
เกิดเมื่อ : 26 ตุลาคม 2015
หน้าที่ : แสดงผลการค้นหาสิ่งแปลกใหม่ที่ดีขึ้นโดยใช้ระบบ AI
ข้อควรระวัง
– การสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ดีสำหรับผู้ใช้งานเว็บไซต์
– ชื่อเฉพาะเกินไปอาจไม่มีคนค้นหา ให้พยายามใส่ภาษาที่เกี่ยวข้องลงไปด้วย
ความเห็นผู้เขียน
เหมาะมากสำหรับคนที่มีสินค้าแนวๆ เนื้อหาแปลกใหม่ในเว็บไซต์ หรือกลุ่มเฉพาะ
8 Possum
จะว่าไปก็มันก็คล้ายกับนกพิราบอะนะ แต่เจ้า Possum มันเป็นอัลกอริทึมสำหรับกรองผลการจัดอันดับในท้องถิ่นของ Google มันจะไล่กำจัดพวกสถานที่ ร้านอาหารและบริการที่ซ้ำๆ กันกับผลการค้นหาออกไปเพื่อกันความสับสน แล้วคุณก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการค้นหายังไงล่ะ
เกิดเมื่อ : 1 กันยายน 2016
หน้าที่ : ให้ผลการค้นหาที่ดีขึ้น โดยดูจากตำแหน่งของผู้ค้นหาและที่ตั้งของธุรกิจ
ข้อควรระวัง
– การแชร์ที่อยู่ใกล้กับธุรกิจที่คล้ายกัน
– คู่แข่งมีที่อยู่ธุรกิจใกล้กับผู้ค้นหา
ความเห็นผู้เขียน
กรองๆ ออกไปบ้างก็ดี ผู้เขียนเคยเจอแบบว่าเปลี่ยนที่อยู่ใหม่แล้ว lineman ยังไปส่งที่อยู่เก่าทั้งที่ confirm ที่อยู่แล้วนะ ฮา..
9 Fred
เจ้า ”Fred” มนุษย์หินฟลินท์สโตน ตัวการ์ตูนที่โด่งดังในอดีต ก็โดนเอามาทำเป็นอัลกอริทึมซะงั้น โดยมีการอัพเดทล่าสุดในเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา เป็นอัลกอริธึมที่เข้ามากำจัดพวกเนื้อหาที่มี link หรือโฆษณาแปลกปลอม พวก Affiliate ต่างๆ และจะทำการลดอันดับเว็บไซต์ที่มีโฆษณามากเกินไปอีกด้วย
เกิดเมื่อ : 8 มีนาคม 2017
หน้าที่ : กรองผลการค้นหาที่มีคุณภาพต่ำที่มีการสร้างรายได้จากโฆษณาและ Affiliate
ข้อควรระวัง
– เนื้อหาที่มีคุณภาพต่ำ และมีโฆษณาเยอะ
– เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ Affiliate
ความเห็นผู้เขียน
ในฐานะ user สมัยนี้ใช้ Adblock สบายใจกว่านะจ๊ะ
infographic จาก zuaneducation.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ่านกันให้ตาแฉะไปข้าง! กูเกิ้ลเผยอัลกอริทึมในการจัดอันดับ 164 หน้า
Google ยืนยันการอัปเดตอัลกอริธึมใหม่ “Broad Core Algorithm”
You may also like
ค้นหาข่าวสารที่คุณสนใจได้ที่นี่
เรื่องล่าสุด
- ระวัง! “Nudify” แอป AI ลบเสื้อผ้าได้ ใช้เปลื้องผ้าผู้คนจากภาพถ่าย!! 29 ธันวาคม, 2023
- หลังจาก YouTube แบน Ad Blocker หลายคน Uninstall แต่หลายคน Install เยอะขึ้น 21 พฤศจิกายน, 2023
- Apple กำลังพัฒนา Search Engine เป็นของตัวเอง จะสู้ Google ได้หรือไม่! 5 ตุลาคม, 2023
- Facebook เปิดตัวโลโก้ใหม่ เปลี่ยนจนที่ใครๆต้องร้องว้าว! 25 กันยายน, 2023
- YouTube บล็อคไม่ให้เล่นคลิปแล้ว หากใช้ Ad Blocker กีดกันโฆษณาบนเบราว์เซอร์ 18 กันยายน, 2023
Facebook Comments