7 สิ่งที่คุณต้องรู้ ก่อนที่จะเปิดร้านขายของบน Facebook!
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้เฟสบุ๊คเกิน 35 ล้านบัญชี มากเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน แถมแต่ละวันคนใช้เวลาไปกับการเล่นเฟสบุ๊คตั้งหลายชั่วโมง ก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นร้านขายของออนไลน์บนเฟสบุ๊คอย่างมากมาย อาจจะเยอะกว่าลูกค้าซะอีก
เนื่องจากการใช้งานง่ายแล้วยังฟรีอีกด้วย เพียงแค่สมัครเฟสบุ๊คด้วยอีเมล์ แล้วก็เริ่มใช้งานได้เลย แต่ใช่ว่าการเปิดร้านค้าโดยการใช้ facebook จะดีเสมอไปเพราะอะไรนั้นลองอ่านดูกันตามนี้เลยจ้า
1. Facebook นั้นไม่มีความแน่นอน
หลายครั้งที่ Facebook มีการเปลี่ยนรูปแบบหน้าตาไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ซึ่งอาจจะกระทบต่อหน้าเพจของคุณ ซึ่งวันนึงหาก Facebook มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ซึ่งคุณอาจจะโดน Facebook แบน Fan Page ของคุณไป นั่นหมายความว่า หน้า Fan Page ของคุณจะหายไปทันที ธุรกิจของคุณจะหยุดชะงัก เปรียบเสมือนร้านคุณถูกปิดลงไป เหมือนคุณโดนไล่ที่ ต้องไปหาที่ค้าขายใหม่ ต้องไปบอกลูกค้าใหม่ ว่าคุณย้ายที่ขายของมาที่นี่แล้ว แน่นอนว่า ลูกค้า อาจจะไม่ได้รับทราบทั่วถึงกัน และในช่วงแรกก็เหมือนต้องเริ่มต้นใหม่
2. ความน่าเชื่อถือของ Fan Page
ความน่าเชื่อถือ แทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับการจัดทำเว็บไซต์ และด้วยโลกปัจจุบันนี้ การหลอกลวงมีมาทุกรูปแบบ มีข่าวให้เราได้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นหากเราจะดำเนินธุรกิจแล้ว ลงทุนเพิ่มอีกนิดเสียค่าบริการ จดโดเมนเนม และค่าเช่าโฮสติ้ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า พร้อมกันนี้ หากธุรกิจของคุณสามารถจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็ควรจดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาอีกระดับ
3. ระบบการจัดการบน Facebook
เมื่อคุณต้องการจัดการหน้าเพจของคุณให้เป็นไปตามความต้องการนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นการแยกหมวดหมู่สินค้า การจัดการโปรโมชั่น การค้นหาข้อมูลซึ่งทำได้ยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อลูกค้าหาสิ่งที่ต้องการไม่พบ ลูกค้าเองก็พร้อมจะไปค้นหาที่ๆ หาได้ง่ายกว่า หากเปรียบเทียบกับการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาเอง
4. การโฆษณา
facebook ของคุณจะติดหน้าแรกหน้าเดียวถ้าค้นหาใน Google ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เวลาสนใจจะซื้อสินค้าเขาจะค้นหาใน Google ซึ่งถ้าเราไม่ใช้คำค้นหาเป็นชื่อร้าน โอกาสที่ facebook ของคุณจะแสดงในหน้าแรกๆ ของ Google นั้นน้อยมาก แถม facebook เองจะเผยแพร่โพสของคุณไปยังหน้าฟีดของผู้ติดตามแค่ 1% แล้วเรามาลองคำนวนดูว่ามีผู้ติดตามร้านคุณ 50,000 คน ในเวลาที่เราโพสอะไรก็แล้วแต่ จะมีคนเห็นโพสคุณแค่ประมาณ 500 คนเท่านั้น หรืออาจจะน้อยกว่านั้นเพราะฟีดมันเลื่อนลงไปเร็วมาก
5. ข้อมูล
หากวันหนึ่งที่คุณต้องการส่งอีเมลล์หาลูกค้า แน่นอนว่า Facebook ทำได้เพียงการส่ง ข้อความ หรือ Personal Message และ Facebook ไม่ยินดี และไม่ยินยอมให้ข้อมูลลูกค้าที่มากด Like Fan Page คุณแน่ ว่าใช้อีเมลล์อะไร แต่หากคุณมีเว็บไซต์เอง หรือใช้ CMS เช่น OpenCart จะมีระบบจัดการหลังบ้าน ให้คุณดำเนินการได้ง่ายดาย และสามารถส่งข่าวสารแจ้งลูกค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงการติดตามสถานการณ์อัพเดทสินค้าที่ลูกค้าได้สั่งซื้อไป ลูกค้าเองก็เพียงเข้ามาในระบบ แล้วติดตามสถานะสินค้า
6. การแจ้งเตือน
facebook จะไม่แจ้งเตือนโพส ปัญหาที่หลายๆ คนเจอคือลูกค้าโพสคอมเม้นต์สอบถามรายละเอียดสินค้า แต่เราจะไม่ได้รับการแจ้งเตือน ไม่รู้ว่ามีคนโพสถาม ก็เลยไม่ได้ตอบ ทำให้เสียโอกาสในการขายไป เราจะไม่สามารถขายของได้ในครั้งเดียว เพราะต้องคอยคุยกับลูกค้าตลอด ไม่ว่าจะทั้งทาง inbox ใน facebook หรือตอบไลน์ลูกค้า หากเราตอบช้า ลูกค้าก็จะเบี่ยงเบนไปซื้อร้านอื่นที่เขาติดต่อไว้เช่นเดียวกัน และวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีงานประจำ
7. คู่แข่งมหาศาล
ลูกค้าไม่ได้สั่งซื้อสินค้าทันทีในตอนนั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่จะกด like ก่อนแล้วมาดูทีหลัง เอาละซิร้านชื่ออะไร จำชื่อร้านไม่ได้ คนที่ทำธุรกิจแบบคุณมีมากมายมหาศาล ถ้าร้านคุณไม่มีชื่อเสียงจริงๆ โอกาสเกิดยากมาก ยิ่งเฟสบุ๊คให้ใช้ฟรี มีคนใช้เยอะ คุณก็ยิ่งมีคู่แข่งเยอะขึ้นตาม ดังนั้น การที่ร้านของคุณจะอยู่ขายของได้ คุณก็จะต้องวางแผนธุรกิจและวางแผนการตลาดให้ดี แถมยังต้องมีการจัดการร้านที่ดีตาม เพื่อให้ร้านของคุณเอาชนะร้านคู่แข่งได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Facebook เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าการขายของบนเฟสบุ๊คไม่ดี เป็นเพียงแนวทางเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้านำไปศึกษาให้ดีก่อนที่จะทำธุรกิจเท่านั้น โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าการทำธุรกิจใดอย่างหนึ่งย่อมมีการลงทุนไม่มากก็น้อย ถ้าคนที่เพิ่งเริ่มต้นขายของออนไลน์มีทุนน้อย ก็อาจจะเริ่มจากการขายในเฟสบุ๊ค แล้วให้เพื่อนๆ ช่วยกันแชร์ช่วยกันโปรโมตก็ได้ แต่ถ้าทำธุรกิจโรงงาน หรือเป็นผู้ผลิตเอง บางทีการเปิดเว็บไซต์ของตัวเองเลยมันเป็นสิ่งที่จำเป็น และคุ้มค่ากว่า
Leave a Reply