มาฟังกูรูพูดถึง “Startup” ฟองสบู่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คนวงในต้องรู้!
ช่วงนี้คำถามว่า “Startup เกิดฟองสบู่หรือไม่” คือคำถามที่ได้ยินกันหนาหูมาก จนทำให้โมเมนตัมของ Startup ไทย ชะงักไปเหมือนกัน แต่พอได้คำอธิบายจาก กระทิง พูนผล iCon Startup ไทย มาสร้างความกระจ่างให้ในระดับหนึ่ง “กระทิง พูนผล” กับคำถามยอดฮิต Startup ไทย ฟองสบู่หรือไม่? โดยทาง Marketingoops ได้จัดความเห็นนานาทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญมาให้คนในวงการใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น เกี่ยวกับคำว่า Startup
สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจ และ dtac Accelerate
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Startup หลายๆ ราย บอกว่ามีเรื่องที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น คือ
1. แนวโน้มของ Startup ฟองสบู่ มีสัญญาณเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งที่ Silicon Valley, จีน และ อินเดีย แต่สำหรับ SE Asia ยังมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามหาศาล ปีที่ผ่านมากว่า 17,000 ล้านเหรียญ โตประมาณ 100% ส่วนในปี 2016 ไตรมาสแรก มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนกว่า 4,700 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่ายังเติบโตอยู่ แสดงว่ายังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดฟองสบู่ในภูมิภาคนี้ ยิ่งประเทศไทยเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น และด้วยสัญญาณจากทั่วโลก ทำให้ทั้ง VC และ Startup มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น คิดค้นนวัตกรรม และโมเดลธุรกิจที่ดีขึ้น
2. Startup มีทั้งที่ดีและไม่ดี หมายถึง มีทั้งรายที่มีนวัตกรรมใหม่ ยากที่จะลอกเลียนแบบ มีโมเดลธุรกิจที่ดี สร้างรายได้ ทำให้ VC ให้ความสนใจลงทุน แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้วิธีที่เรียกว่า “เผาเงิน” ทำการตลาดเพื่อสร้างฐานลูกค้า สร้างการใช้งาน ซึ่งในระยะยาวไม่เกิดประโยชน์
ดังนั้น หัวใจสำคัญคือต้องให้ความรู้กับ Startup และคนที่อยากเป็น Startup อย่างถูกต้องว่า Startup ไม่ใช่งานง่ายๆ ที่จะเข้ามาสร้างเงิน แล้วก็จบไป แต่ต้องใช้เวลานาน ต้องทำงานหนัก และต้องมีธุรกิจที่สร้างรายได้ มีผลกำไร ส่วน VC นั้น ต้องรู้อยู่แล้วว่า อัตราประสบความสำเร็จในการลงทุนกับ Startup มีประมาณ 10% เท่านั้น อีก 90% คือล้มเหลว
ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)
Startup เป็นสิ่งที่ดี จุดสำคัญคือต้องสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อ Disrupt ธุรกิจและบริการแบบเดิมๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การอยากเป็น Startup แบบตามกระแส โดยไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกิดฟองสบู่ในที่สุด ในต่างประเทศมี Startup ระดับ Unicorn มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญ แต่ยังไม่สร้างรายได้ นี่คือโอกาสเกิดฟองสบู่ ซึ่งไทยและภูมิภาค SE Asia ต้องระมัดระวัง
อีกส่วนที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่อยากเป็น Startup แต่ขาดความเข้าใจ ขาดความรู้พื้นฐาน ดังนั้นการจะตั้งเป้าให้มี Startup เป็นพันหรือเป็นหมื่นราย คงไม่สามารถทำได้ และต้องคิดด้วยว่าจากนี้อีก 2-3 ปี Startup 90% ที่จะ Fail นั้น จะทำอะไรต่อไป นี่คือต้องให้ความรู้ ให้รู้จักตัวเอง ประเมินตัวเองว่าเหมาะสมกับการทำ Startup หรือไม่
ภุชงค์ อุทโยภาศ อาจารย์วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านไอที มองว่า Startup เป็นของดี แต่ต้องทำอย่างถูกต้อง อยากเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ให้กับสังคม อย่าให้เป็นเรื่องของความอยากรวย ไม่เช่นนั้นจะเกิดฟองสบู่ ต้องรู้ตัวเองว่าเหมาะสมที่จะทำอะไร ซึ่งส่วนตัวมองว่า Startup จะดีได้ต้องมี 3 ส่วนหลัก คือ
1. Technical Excellence
2. Management Excellence
3. Marketing Excellence
ถ้ามีครบ 3 ส่วนนี้ จากนั้นก็ต้องทุ่มเทหัวใจแบบสุดชีวิต สุดพลัง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็อย่าทำ Startup
ความเห็นส่วนตัว ในเวลานี้ Startup ฟองสบู่ ได้เกิดขึ้นแล้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่อยากทำงานประจำ แต่อยากเป็น Startup โดยไม่มีความรู้ว่าถ้า Fail แล้วอีก 5 ปีจะทำอะไร จะเกิดปัญหาเช่น บุคลากรขาดแคลรน ดังนั้นต้องให้ความรู้ว่า ความเสี่ยงคืออะไร โอกาสมีมากน้อยแค่ไหน มีนวัตกรรมที่คนอื่นยากจะเลียนแบบหรือไม่ ส่วนในมุมมองด้านการลงทุน VC ต้องรู้ว่า Startup ก็เหมือนหุ้น มีได้มีเสีย ต้องระมัดระวัง ทั้งหมดต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้ฟองสบู่ใหญ่ขึ้นและแตก ต้องรีบควบคุมตั้งแต่วันนี้
กิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO Startup ไทย เจ้าของผลงาน Claim di
นี่คือหนึ่งใน Startup ที่สร้างธุรกิจที่ออกมา Disrupt ธุรกิจประกันภัยและได้รับความสนใจในหลายประเทศ มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และมีความเข้าใจในคำว่า Startup มากที่สุดคนหนึ่ง โดยให้ความเห็นว่า Startup ไม่ได้เกิดฟองสบู่ แต่ต้องการความเข้าใจจาก รัฐบาล ถึงความแตกต่างระหว่าง SMEs และ Startup
Startup ที่เกิดขึ้นใน Silicon Valley นั้น 96% ล้มเหลว เจ๊ง หรือตาย ดังนั้น Startup ไม่ใช่ธุรกิจโลกสวยที่คิดว่าจะเข้ามาแล้วประสบความสำเร็จง่ายๆ รวยเร็ว ต้องเข้าใจ Startup ว่า ต้องทำงานหนัก ต้องเข้าใจปัญหาของธุรกิจเดิมอย่างถ่องแท้ จากนั้นต้องมีไอเดียที่จะแก้ไขปัญหานั้นจริงๆ เพราะเจอปัญหามาเองกับตัว ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เท่ากับกำลังสร้าง Startup ฟองสบู่ให้เกิดขึ้น
สิ่งที่จะช่วยอีกทางหนึ่งคือ รัฐบาลต้องเข้าใจและสร้าง ecosystem ที่ดี เอื้อต่อการเติบโต ต้องปรับแก้กฎหมายให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และ ไม่ต้องมีเงินลงทุนจากรัฐบาล ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้ Startup เติบโต และป้องกันปัญหาฟองสบู่ได้อย่างดีที่สุด
Credit : marketingoops
Leave a Reply