“The Social Dilemma” หนังที่เล่นกับด้านมืดของมนุษย์ – Facebook ตอบโต้ 7 ข้อในหนังเรื่องนี้
หากเราเปิด topic เกี่ยวกับ ‘Social Media’ ขึ้นมาก็น่าจะดีเบตกันไม่รู้จบแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายๆ ประเทศเคยเปิดประเด็นเหล่านี้กันมาแล้ว แต่ก็ไม่ยักจะหาที่สิ้นสุดได้ หรือได้ผลสรุปดีๆ ครอบคลุมได้ทั้งหมดว่ามันดีหรือไม่ดีกันแน่!
หลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์น่าจะเคยเห็นผ่านหูผ่านตามาแล้ว เกี่ยวกับเรื่อง ‘Searching’ ในปี 2018 หนังชีวิตที่โคตรจะสะท้อนชีวิตจริงของเราในปัจจุบัน ซึ่งมุมมองจากหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่เราจะเห็นถึงคุณงามความดีของสื่อโซเชียลว่า อย่างน้อยๆ ก็ทำประโยชน์ช่วยค้นหาคนได้เหมือนกันอย่างที่ในหนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อออกมา
แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มไม่น้อยเลย ที่ต่อต้านโซเชียลมีเดีย พาลไปต่อต้านเทคโนโลยีว่าเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คน แทนที่จะเพิ่มความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว
ประเด็นตรงนี้แหละที่ทำให้เราอยากจะหยิบสารคดีเรื่องหนึ่งขึ้นมาพูด ‘The Social Dilemma’ สร้างโดย Jeff Orlowski จาก Netflix ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ มีคำพูดหนึ่งจากสารคดีเรื่องนี้ ที่ตอบข้อสงสัยเราได้บ้าง นั่นคือ “เทคโนโลยี ไม่ใช่ภัยคุกคามมนุษย์ แต่ความสามารถของมันต่างหากที่ทำให้สังคมเสื่อมลง”
ในเมื่อตลอด 24 ชั่วโมงในยุคนี้ ทุกอย่างล้วนต้องมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง แค่ตื่นมาตอนเช้าจะฟังเพลงยังต้องใช้สมาร์ทโฟน แทนที่เราจะเปิดวิทยุเหมือนเมื่อก่อน พฤติกรรมเหล่านี้เป็น circle ที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้ และเราไม่มีวันรู้ว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนพฤติกรรม เข้ามามีบทบาทกับเราอีกมากแค่ไหน
ดังนั้น เวลาแค่ 1 ชั่วโมง 34 นาทีจากสารคดีเรื่องนี้ จะทำให้คุณกระจ่างกับบางเรื่อง โดยเฉพาะระบบการทำงานของอัลกอริทึมโซเชียลมีเดีย เราจะได้เห็นมุมมองด้านมืดของมัน และกระตุ้นความคิดเราบางอย่างว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างมั้ย? จัดการกับสิ่งเร้าพวกนี้อย่างไร? หรืออย่างน้อยก็เพื่อเปิดรับมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย เพื่อ balance ชีวิตของเราในแต่ละวัน
โดยเรื่องราวของสารคดีเรื่องนี้ ใช้วิธีถ่ายทอดมุมมองของคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อโซเชียลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น อดีตวิศวกรของ Facebook (เคยร่วมทีมสร้างปุ่มกด Like), อดีตผู้บริหารของ Pinterest, อดีตนักจริยธรรมการออกแบบ Google และยังมีอีกหลายวงการ ทั้ง Twitter, Youtube โดยในระหว่างเรื่องได้สลับกับเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง (นักแสดง) ที่ลูกๆ ค่อนข้างติดสื่อโซเชียล และมีความคิดหัวรุนแรงอยู่ลึกๆ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
The Social Dilemma ได้สะท้อนให้เราเห็นมุมมืดที่ impact ต่อคน เป็นความบิดเบี้ยวของสังคม ทั้งการแบ่งขั้ว, การแทรกแซงการเมือง, การสร้างความเกลียดชัง, ปัญหาสุขภาพ, โรคซึมเศร้า จนไปถึง fake news สิ่งเหล่านี้ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามตัวเองว่า “มันปกติมั้ย? สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเป็นสิ่งปกติจริงๆ หรือ?”
มีสิ่งหนึ่งจากสารคดีเรื่องนี้ ทำให้เราเข้าใจความคิดของเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เหตุผลที่พวกเขายอมลาออกปฏิเสธเงินเดือนสูงลิ่วที่บอกใครต่อใครต้องอิจฉา เพียงเพราะว่า พวกเขารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ไหว จุดประสงค์จริงที่สวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น โซเชียลมีเดีย กลายเป็นระบบที่ใหญ่เกินรับมือ และพยายาม tracking จุดอ่อนของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้รู้ตัวตนเรามากที่สุด
จากความบิดเบี้ยวทางสังคม กลายเป็น ‘สินค้า’ ใช้ในเชิงพาณิชย์
มุมมองของ Jeff Seibert อดีตผู้บริหารของ Twitter ค่อนข้างน่าสนใจ เขาได้พูดถึงประเด็น ‘New Market Model’ เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร มองภาพ/คลิปวิดีโอหนึ่งนานแค่ไหน, ดูรูปแฟนเก่าวนไปมา หรือแม้กระทั่งเราทำอะไรเวลาดึกๆ บ้าง มูฟเม้นต์พวกนี้ทำให้เกิด ‘โมเดลธุรกิจใหม่’ ที่ขายเฉพาะอนาคตของมนุษย์ หมายความว่า ถ้าวันหนึ่งเราใช้เวลากับการดูภาพน้องหมาน้องแมวนานๆ เมื่อถึงเวลาที่ AI หรืออัลกอริทึม เข้าใจตัวตนแล้ว 100% แล้วมันจะเสนอคาเฟ่คนรักสัตว์ หรือแหล่งฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมาแมวชั้นดีให้กับคุณ เพราะเดาว่าคุณ(น่าจะ) กำลังต้องการมัน เป็นต้น
“ยิ่งดูมาก แชร์มาก ไลก์มาก AI ยิ่งรู้จักเราดีขึ้น” Sean Parker อดีตประธาน Facebook พูดคำหนึ่งว่า “Social media is the drug. (สื่อโซเชียลเป็นยาเสพติด)” บางทีหลังม่าน(จอมือถือ) ก็เหมือนกับว่า เรากำลังเล่นเกมอยู่กับ super computer ดูสิว่าใครจะชนะ? ซึ่งคำตอบ ณ ปัจจุบันที่เราเห็นก็คือ AI ชนะ! (แบบกินขาด)
ดังนั้น สิ่งเร้าที่โชว์บนจอมือถือ แล็ปท็อป หรือ แท็บเลต ทุกๆ ความเคลื่อนไหวล้วนมีราคา ยุคที่ data กลายเป็นทองคำ ใครๆ ก็ต้องการใช้เพื่อดำเนินธุรกิจ ซึ่งข้อมูลของเราทั้งหมด ระบบจะสร้างโมเดลตัวเราขึ้นมา สะสมเรื่อยๆ จนทำให้แม่นยำ ชัดเจน และในที่สุด ‘เราเองก็กลายเป็นสินค้า’ ซึ่งอดีตทีมงานของ Google พูดค่อนข้างชัดเจนว่า “if you’re not paying for the product, you are the product. (ถ้าคุณไม่ใช่คนที่จ่ายสินค้า คุณก็คือสินค้า)
ทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ และเปิดใจเรื่องการยุติบทบาทในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก คิดเห็นเหมือนกันว่า “ปัญหามันอยู่ที่โมเดลธุรกิจ ไม่ใช่เทคโนโลยี” พวกเขาตั้งใจจะส่งต่อพลังบวกและความรักผ่านสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้น แต่! ลัทธิที่มุ่งเน้นแต่กำไร เห็นปลาวาฬที่ตายมีค่ามากกว่าปลาวาฬเป็นๆ (เปรียบเทียบธุรกิจค้าปลาวาฬ ที่ทำลายระบบนิเวศน์ท้องทะเล) โลกอนาคตกับความคิดของมนุษย์ก็จะยิ่งมืดมนไปอีก เพราะถูกควบคุมผ่าน something ที่ไม่มีชีวิตหลังม่านนี้. These are the best replica watches for men on the market.
แม้ว่าภาพรวมๆ กับบางฉากที่เล่ามา มันอาจฟังดู dark มากๆ และเหมือนกับว่าสารคดีเรื่องนี้ต้องการโจมตีโซเชียลมีเดีย หรือเทคโนโลยีก็ตาม แต่มันไม่ใช่เลย เพียงแต่มุมมองของผู้สร้างต้องการให้มนุษย์เราอยู่กับความเป็นจริง รู้ทันการทำงานของระบบ เข้าใจคำว่าอัลกอริทึมจริงๆ และไม่เซนซิทีฟเกินไปจนทำให้เราถูกชักจูงหรือโน้มน้าวได้ง่าย
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือ เราต่างก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือบางคนถึงขั้นรู้ว่าระบบหลังม่านนี้มันทำงานอย่างไร แต่กลับยังคุมการใช้งานไม่ได้หรือไม่ต้องการจะคุม นี่แหละที่น่าเป็นห่วง!
ซึ่งล่าสุด ทาง Facebook ก็ได้มีการขอพื้นที่ชี้แจง 7 ข้อที่มองว่า เนื้อหาของเรื่องนี้บิดเบือนจากความเป็นจริง และไม่แสดงถึงความพยายามของ Facebook ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่อัพเดทเนื้อหาตามความเป็นจริง หรือไม่มีข้อมูลเชิงลึกมากพอเกี่ยวกับระบบการทำงานของ Facebook ในปัจจุบัน
😮 Wow…
Facebook has published this official response to Netflix’s ‘The Social Dilemma’ documentary https://t.co/lTjXh9tiNP pic.twitter.com/jeuATkVT7B
— Matt Navarra (@MattNavarra) October 2, 2020
ทั้งนี้ 7 ข้อที่เจ้าพ่อสื่อโซเชียล ‘Facebook’ ได้ให้ข้อมูลเพื่ออธิบายต่อสาธารณะ สรุปได้ดังนี้
1. ADDICTION
ภาวะเสพติด Facebook ของผู้คน ที่ต้องปฏิเสธเสียงแข็งเพราะว่า ในปัจจุบัน Facebook ได้พยายามปรับการแสดงผลโดยลดเนื้อหาประเภทไวรัลวิดีโอลง ตั้งแต่ปี 2018 อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนการจัดอันดับสำหรับ News Feed ตามความสำคัญและที่มีประโยชน์มากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ การใช้งาน Facebook ของคนทั้งโลกลดลงถึง 50 ล้านชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในเนื้อเรื่อง The Social Dilemma ไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพูด
นอกจากนี้ Facebook ยังทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหลายองค์กร ขณะที่ทีมวิจัยของ Facebook ได้อุทิศเวลาเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจผลกระทบจากสื่อโซเชียลต่อผู้ใช้
2. YOU ARE NOT THE PRODUCT
อีกหนึ่งประเด็นจากสารคดีเรื่องนี้ที่ถูกหยิบมาพูดบ่อยมาก คือ ‘ผู้ใช้สื่อโซเชียล = สินค้า’ ซึ่งทาง Facebook ได้ยืนยันว่า ผู้ใช้งานไม่ใช่สินค้า และไม่มีการขายข้อมูลแต่อย่างใด และสำหรับการขายโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม Facebook เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้คนใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
Facebook ยืนยันว่า โมเดลนี้จะช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโต และสามารถแข่งขันได้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยในการหาลูกค้าใหม่มากขึ้น ง่ายขึ้น “แม้ว่าคุณจะซื้อ Ads ของเราแต่จะไม่มีวันเปิดเผยข้อมูล หรือตัวตนของคุณ เว้นแต่คุณจะอนุญาต”
3. ALGORITHMS
ความบ้าคลั่งของอัลกอริทึมที่เราเห็นในเนื้อเรื่องดังกล่าว เป็นการเปรียบเปรยที่เกินจริง Facebook ใช้อัลกอริทึมเพื่อปรับปรุงประสบการณ์สำหรับผู้ที่ใช้เท่านั้น เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Dating app, Amazon, Uber หรือแม้แต่ Netflix เองก็ใช้อัลกอริทึม เพื่อเช็คดูว่ามีแนวโน้มที่ผู้ใช้จะดูสารคดีเรื่อง The Social Dilemma หรือไม่ แล้วกลุ่มลูกค้าแบบไหนที่ควรดูสารคดีเรื่องนี้ เป็นต้น
“สิ่งนี้เกิดขึ้นกับทุกบริการทุกบริษัท อัลกอริทึม และพวก machine learning เป็นเครื่องมือช่วยปรับปรุงบริการของเรา”
4. DATA
จากกระแสที่เปรียบเทียบผู้ใช้เป็น ‘สินค้า’ การใช้ข้อมูลในเชิงผลประโยชน์ทางพาณิชย์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่พูดถึงอยู่มากเหมือนกัน โดย Facebook ยืนยันว่า บริษัทได้ปรับปรุงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากกว่าเดิม และในปี 2019 facebook ได้ทำข้อตกลงร่วมกับ คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission – FTC) เพื่อสร้างการป้องกันข้อมูลของผู้ใช้ไม่ให้รั่วไหลออกไป
ที่ผ่านมา Facebook ได้มีนโยบายห้ามใช้ Facebook ในการส่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลสุขภาพ, หมายเลขประกันสังคม แม้แต่ในแพลตฟอร์ม Facebook Pixel และ SDK เองก็ด้วย
5. POLARIZATION
สำหรับประเด็นเรื่อง ‘Polarization’ หรือ การเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว (ในสารคดีพูดว่า ข้อมูลของแต่ละคนที่เห็นบน Feed ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความสับสน และการแบ่งขั้วขึ้น) โดยทาง Facebook ยืนยันว่า ได้ปรับระบบมาสักพักแล้ว เช่น การลดเนื้อหาที่มีความรุนแรง คำพูดรุนแรง เป็นต้น
แต่สถานการณ์การแบ่งพรรคแบ่งขั้วเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่จะมี Facebook เสียอีก ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนเนื้อหาที่แสดงบนแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็น เรื่องราวรายวัน เพื่อนและครอบครัว ไม่ใช่การแบ่งขั้ว หรือการเมือง
6. ELECTIONS
จากความพลั้งพลาดของ Facebook เมื่อ 4 ปีก่อนจนทำให้ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา แต่ครั้งนี้ Facebook ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้แพลตฟอร์มหรือข้อมูลผู้ใช้เพื่อไปแทรกแซงการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ผ่านประชาชนแน่นอน โดยพวกเขาได้ปรับและพัฒนาระบบความปลอดภัย รวมถึง ข้อบังคับต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงเพื่อการแทรกแซง
โดยมั่นใจว่า ระบบของ Facebook มีความซับซ้อนที่สุดในโลกเพื่อป้องกันการแฮกข้อมูล นอกจากนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Facebook ได้ลบเครือข่ายกว่า 100 เครือข่ายทั่วโลกที่มีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ และเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ได้เปิดตัว ‘Ad Library’เพื่อให้การโฆษณาโปร่งใสมากที่สุด โดยผู้ใช้จะมองเห็นโฆษณาทั้งหมดบน Facebook แม้ว่าคุณจะไม่เคยเห็นโฆษณาบางตัวบนหน้า Feed ของคุณเองก็ตาม
7. MISINFORMATION
Fake news เป็นพาร์ทที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในสารคดีเรื่องนี้ โดยกล่าวหาว่า ความปลุกปั่น เกลียดชัง ประท้วง ความรุนแรงทั้งหมด มาจากธุรกิจ fake news ที่หาผลประโยชน์จากความรุนแรง การบิดเบือนข้อมูลเพียงเล็กน้อยเพื่อกำไรที่มหาศาลกว่า ซึ่ง Facebook ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาแก้ไขและกำจัด fake news เป็นล้านๆ มาแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้รับสารที่เป็นความจริงเท่านั้น
ดังนั้น สำหรับ Facebook ข้อกล่าวหานี้ถือว่าบิดเบือนความเป็นจริงเกี่ยวกับระบบหลังบ้านที่รุนแรง Facebook เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพียงแห่งเดียวที่มีเครือข่ายพันธมิตร ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกว่า 70 รายทั่วโลก เราจะช่วยกันตรวจสอบเนื้อหาในภาษาต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2020 Facebook ได้จัดการกับ #hate speech กว่า 22 ล้านชิ้น หรือราวๆ 94% ดังนั้น สารคดีเรื่องนี้ค่อนข้าง ‘ไม่อัพเดท’ กับข้อมูลใหม่ของ Facebook และถือเป็นการกล่าวอ้างสื่อโซเชียลแบบไม่เป็นกลาง
ในฐานะที่เป็นคนที่ใช้ทั้งสื่อโซเชียลรวมทั้ง Facebook และก็เป็นคนที่ดูสารคดีเรื่องนี้จบแล้ว สิ่งที่รู้สึกและผุดอยู่ในหัวตลอดเวลาก็คือ ‘เหรียญมันมี 2 ด้านอยู่แล้ว’ ถ้าเราแบ่งแยกเนื้อหาที่ hardcore ได้ หรือพิจารณาว่าเป็น fake news ก่อนที่จะปักใจเชื่อ รวมทั้งจัดสรรเวลาใช้งานสื่อโซเชียลในแต่ละวันได้ดี มันจะไม่มีคำว่า ‘เห็นด้วย หรือ โต้แย้งในใจ’ เพราะการรู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็น the best choice สำหรับเรื่องนี้
Credit : marketingoops
You may also like
ค้นหาข่าวสารที่คุณสนใจได้ที่นี่
เรื่องล่าสุด
- ระวัง! “Nudify” แอป AI ลบเสื้อผ้าได้ ใช้เปลื้องผ้าผู้คนจากภาพถ่าย!! 29 ธันวาคม, 2023
- หลังจาก YouTube แบน Ad Blocker หลายคน Uninstall แต่หลายคน Install เยอะขึ้น 21 พฤศจิกายน, 2023
- Apple กำลังพัฒนา Search Engine เป็นของตัวเอง จะสู้ Google ได้หรือไม่! 5 ตุลาคม, 2023
- Facebook เปิดตัวโลโก้ใหม่ เปลี่ยนจนที่ใครๆต้องร้องว้าว! 25 กันยายน, 2023
- YouTube บล็อคไม่ให้เล่นคลิปแล้ว หากใช้ Ad Blocker กีดกันโฆษณาบนเบราว์เซอร์ 18 กันยายน, 2023
Facebook Comments